มารยาทในการขับรถ ขับรถยังไงเพื่อเป็นมิตรกับเพื่อนๆ ร่วมท้องถนน การเดินทางด้วย รถยนต์บนถนนสาธารณะ นอกจากกฎหมายราชการแล้ว ยังควรมีมารยาท และความเอื้ออาทรต่อกัน เพื่อให้มีทั้งความราบรื่นและความปลอดภัย ในการเดินทางอยู่เสมอ ผู้ขับรถยนต์ไทย กับมารยาทในการใช้รถใช้ถนนร่วมกัน ยังไม่มีมากนัก หากไม่หันมารณรงค์ร่วมกัน การรักษามารยาท ก็คงจะถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง วิธีและมารยาทในการปฏิบัติต่อไปนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งยังมีอีกหลายแนวทาง ถ้าเห็นว่าสมควรก็ค่อยนำไปปฏิบัติ
1. กะพริบไฟสูงขอทางหรือเตือน อาจสับสน
บางเรียกศัพท์สแลงกันว่า ดิฟไฟสูง คนไทยมักใช้เตือน เพื่อไม่ให้รถยนต์ทางโทตัดเข้ามาทางเอกหรือทางตรง ในขณะที่บางประเทศใช้การกะพริบไฟสูงเมื่ออยากให้ทาง เพราะแสดงว่า เห็นแล้วและยอมให้ทางขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ใช้เพื่อบอกว่า เห็นแล้วว่ามีรถยนต์กำลังจะตัดทางเข้ามา แต่ไม่ให้เข้ามา ในกรณีนี้กฎหมายไทย ไม่มีการกำหนดว่า ให้ใช้การกะพริบไฟสูง เพื่อจุดประสงค์ใด อาจเพราะไม่สามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นสากลได้ จึงยังพอใช้กันในสไตล์ไทยๆ ได้ แต่ก็มีผู้ที่ใช้เพื่อต้องการให้ทางอยู่บ้าง ซึ่งน่าจะเหมาะสมกว่า เพราะต้องเห็นก่อนจึงจะสามารถกะพริบไฟบอกได้ ก็คงต้องปล่อยวางและใช้กันไปตามกระแส
2. จอดในพื้นที่ห้ามจอด-เปิดไฟฉุกเฉิน
ถือเป็นการเอาเปรียบ สังคมอย่างหนึ่ง แม้จะเป็นการจอดชั่วคราวก็ตาม เพราะการเปิดไฟฉุกเฉิน เพื่อแสดงว่าจอด แต่ถ้าไม่ใช่เวลาและและพื้นที่ซึ่งควรจอดก็ไม่ควรปฏิบัติ อีกทั้งยังผิดกฎจราจรอีกด้วย การเปิดไฟฉุกเฉินจอดในพื้นที่ห้ามจอด ไม่สามารถป้องกันการออกใบสั่งได้
3. ก้มศีรษะขอบคุณ ลืมไปแล้วหรือ ?
3-4 ปีที่ผ่านมา ผู้ขับมีการก้มหัวขอบคุณเมื่อได้รับการให้ทาง แต่ในระยะหลังมานี้เริ่มมีการถดถอยหรือหลงลืมกันไปบ้าง อาจะเป็นเพราะการรักษาศักดิ์ศรีโดยไม่จำเป็น เช่น ผู้ขับรถยนต์ระดับหรูราคาแพง มักไม่ยอมขอบคุณผู้ขับรถยนต์ราคาถูกที่ยอมให้ทาง หรือผู้ชายมักไม่ยอมขอบคุณผู้หญิง ฯลฯ นับเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมาก เมื่อมีการขอบคุณให้หลังจากได้รับการให้ทาง หากเกรงเสียศักดิ์ศรี ไม่อยากก้มศีรษะขอบคุณให้ ก็สามารถใช้วิธียกแขนพร้อมแบฝ่ามือครบทั้ง 5 นิ้ว (เน้นครบ 5 นิ้ว เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด) ซึ่งยังดีกว่าการเพิกเฉย การขอบคุณในเรื่องที่สมควร ไม่น่าใช่เรื่องการเสียศักดิ์ศรี
4. เบรก ต้องสนใจรถยนต์ที่ตามด้วย
ไม่ใช่ แค่รักษามารยาท แต่เป็นการเพิ่มความปลอดภัยกันด้วย ถ้าต้องมีการเบรก ผู้ขับส่วนใหญ่จะมองแค่เป็นการลดความเร็ว เมื่อมีสิ่งกีดขวางด้านหน้า โดยไม่ค่อยสนใจมารยาทและความปลอดภัยของผู้ขับรถยนต์คันที่ตามมา หากมีเวลาพอ ก่อนการเบรกควรเหลือบมองกระจกหลัง และเพื่อจะได้ตัดสินใจกดแป้นเบรกด้วยจังหวะและน้ำหนักที่เหมาะสม เพื่อมารยาทที่ดี ผู้ขับรถยนต์คันที่ตามมาไม่ต้องเบรกจนตัวโก่ง และไม่เสี่ยงต่อการเสียโฉมของบั้นท้ายรถยนต์ของตนเอง นอกจากนั้น การแตะเบรกโดยไม่จำเป็นก็ถือว่า เสียมารยาทบ้างเล็กน้อย เพราะไฟเบรกจะสว่าง ทำให้ผู้ขับรถยนต์คันตามมาชะงัก แต่ก็อย่ากังวลมากจนแตะเบรกช้า เพราะอาจเป็นอันตราย การเบรกไม่ควรสนใจแต่เพียงสถานการณ์ด้านหน้าเท่านั้น ด้านหลังก็ต้องสนใจทั้งมารยาทและความปลอดภัย
5. ข้าม 4 แยก / 3 แยก ตรงไป ไม่ควรเปิดไฟฉุกเฉิน
ถ้าจะขับรถยนต์แล้วต้อง การ ข้าม 4 แยก หรือ 3 แยกแนวตรงแล้วต้องการตรงไป การเปิดไฟฉุกเฉิน-กะพริบ 4 มุม เป็นวิธีที่ผิดและอันตราย สาเหตุที่ไม่ควรเปิดไฟฉุกเฉินในกรณีนี้ เพราะผู้ขับรถยนต์ที่มาด้านซ้าย-ขวา อาจเห็นเพียงไฟกะพริบด้านหน้ามุมเดียว เสมือนเป็นการเปิดไฟเลี้ยว โดยไม่ทราบเลยว่า เป็นการเปิดไฟฉุกเฉินกะพริบพร้อมกัน 4 มุมซ้าย-ขวา หากสมมุติเหตุการณ์ขึ้นจะพบว่า ไฟเลี้ยวด้านหน้า แม้จะกะพริบพร้อมกันซ้าย-ขวา แต่ผู้ขับรถยนต์คันที่มาจากด้านข้างในแต่ละด้าน ก็ยังอาจเห็นไฟหะพริบเพียงมุมเดียว โดยเฉพาะผู้ที่ขับรถยนต์มาจากด้านซ้าย ก็อาจจะไม่ชะลอความเร็วลงหรือไม่ให้ทาง ด้วยคิดว่ารถยนต์คันที่เปิดไฟฉุกเฉินจะเลี้ยวซ้าย โดยไม่เกี่ยวกับเขา
นอกเหนือจากนั้นในมุม อื่น หากมีรถยนต์บางคันที่เปิดไฟฉุกเฉิน ผู้ขับรถยนต์คันอื่นก็อาจเข้าใจผิดคิดว่า เป็นการเปิดไฟเลี้ยวเฉพาะมุมที่เขาเห็นในช่วงเวลานั้น วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องและปลอดภัย คือ เบรกชะลอความเร็วลงมองซ้าย-ขวา เมื่อเส้นทางว่างพอ ก็ตรงไปด้วยความเร็วที่เหมาะสม โดยไม่ต้องเปิดสัญญาณไฟใด ๆ ใช้สมาธิและเวลา มองรถยนต์คันอื่น ปลอดภัยกว่าการเสียสมาธิและเสียเวลา เปิด-ปิดสวิตช์ไฟฉุกเฉิน ในกฎหมายจราจร ไม่มีการระบุไว้ว่า ต้องเปิดไฟฉุกเฉินเมื่อต้องการข้าม 4 แยกแล้วตรงไป
6. ฝนตกหนัก ไม่ควรเปิดไฟฉุกเฉิน
อาจให้ผลร้ายในความหวัง ดี ที่เกรงว่าผู้ร่วมทางจะไม่สามารถมองเห็นรถยนต์ ของตน เมื่อฝนตกหนัก ๆ ไม่ควรเปิดไฟฉุกเฉิน เพราะจะแยงสายตา และหากมีรถยนต์บางคันบังรถยนต์คันที่เปิดไฟฉุกเฉิน ผู้ขับรถยนต์คันอื่นอาจเข้าใจผิดว่า เป็นการเปิดไฟเลี้ยวเฉพาะมุมที่เขาเห็น รวมถึงมักมีการเปลี่ยนเลนโดยไม่ปิดไฟฉุกเฉินก่อน ก็จะไม่มีไฟเลี้ยวให้ใช้บอกเตือนตามปกติ
ถ้าฝนตกหนักมาก วิธีปฏิบัติที่ปลอดภัยและถูกต้อง คือ ชะลอความเร็วลง ชิดเลนซ้าย และเปิดไฟหน้าแบบต่ำ หรือถ้ามีไฟตัดหมอกหลังสีแดงเพิ่มอีก 2 ดวง ก็ควรเปิดไว้ด้วย แล้วขับด้วยความระมัดระวังตลอดเส้นทางไฟฉุกเฉินมีไว้ใช้เมื่อฉุกเฉินจริง ๆ เช่น รถยนต์จอดเสีย เกิดอุบัติเหตุบนผิวจราจร รถยนต์ถูกลาก (ถ้ามีโอกาส ทำป้ายหรือเขียนกระดาษแปะด้านท้ายรถว่า “รถลาก” จะช่วยให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น) ในกรณีที่เปิดไฟฉุกเฉินและมีการลากรถยนต์ ควรชิดเลนซ้ายและเมื่อต้องการเปลี่ยนเลน ควรปิดไฟฉุกเฉินแล้วเปิดไฟเลี้ยวล่วงหน้าตามระยะห่างที่ปลอดภัย
7. สปอตไลท์/ไฟตัดหมอก ควรเปิดเมื่อไม่รบกวนคนอื่น
ไฟส่อง สว่างนี้มีทั้งติดตั้งเป็นอุปกรณ์มาตรฐานและติดตังเพิ่มเอง ตำแหน่งอยู่ตรงด้านล่างของกันชนหน้า 2 ดวงต่อรถยนต์ 1 คัน รถยนต์บางรุ่นติดตั้งให้ใช้เป็นไฟตัดหมอก ซึ่งก็ควรใช้เมื่อมีหมอกตามชื่อเรียก
การใช้สปอตไลท์/ไฟตัด หมอก เริ่มมีการผิดมารยาท สร้างความรำคาญ และเริ่มแพร่หลายขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจลดความปลอดภัยแก่ผู้ร่วมถนน คือ เปิดใช้ในขณะที่เส้นทางไม่มืดมาก ซึ่งไม่จำเป็นเลยเพราะแสงสว่างที่แรงนั้น อาจแยงสายตาทั้งผู้ขับรถยนต์คันที่สวนมาและคันที่นำหน้าในเส้นทางปกติ ไม่ควรเปิดใช้งานเพราะสว่างอยู่คนเดียว แต่ทำให้คนอื่นตาพร่ามัวคล้าย หรือแย่กว่าการเปิดไฟสูงสาดไปทั่วนั่นเอง
ผู้ขับรถยนต์บางรายหนัก ข้อด้วยการเปิดเพียงไฟหรี่ แล้วเปิดสปอตไลท์เพิ่มความสว่าง นับเป็นการรบกวนสายตาของเพื่อนร่วมทางอย่างมาก ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำเพื่ออะไร ? ต้นเหตุที่หลายคนเปิดสปอตไลท์หรือไฟตัดหมอกด้านหน้า โดยไม่เกรงใจผู้ขับรถยนต์คันนำ หรือคันที่สวนทางมา เพราะคิดไปเองแต่เพียงว่า ตำแหน่งของสปอตไลท์อยู่ต่ำ ไม่น่าแยงตาเหมือนการเปิดไฟสูง
ในความเป็นจริง ไฟส่องสว่างที่ติดตั้งอยู่ต่ำก็อาจแยงตาได้ ถ้ามีแสงแรงและมีการกระจายแสงมาก ๆ สปอตไลท์ส่วนใหญ่มีแสงแรง และหลายแบบมีการกระจายแสงมากจนแยงตา ด้วยแสงแบบประกายแฉก หากอยากเปิดใช้จริง ๆ ควรลองเปิดแล้วออกไปมองอย่างรอบคอบว่า จะแยงตาผู้อื่นหรือไม่ (ส่วนใหญ่แยงตา) หากไม่แน่ใจ ก็ไม่ควรเอาเปรียบผู้ขับร่วมทาง ด้วยการเปิดสปอตไลท์โดยไม่จำเป็น ควรเปิดเมื่อมืดจริง ๆ และมั่นใจว่า ไม่รบกวนผู้อื่น สำหรับคำถามที่ว่า แล้วเมื่อมีปัญหาอย่างนี้ผู้ผลิตรถยนต์ติดตั้งสปอตไลท์มาเพื่ออะไร แล้วจะได้ใช้งานเมื่อไร เพราะกลัวไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป
ผู้ผลิตรถยนต์หลายราย ระบุในคู่มือประจำรถยนต์ว่า สปอตไลท์ควรเปิดเมื่อไม่รบกวนผู้อื่น จำเป็น หรือควรเปิดเมื่อหมอกลง และไม่ควรเปิดใช้ต่อเนื่องนาน ๆ เพราะจะร้อนเกินไปจนจานฉายอาจเสื่อมได้ง่าย และการเปิดสปอตไลท์ต่อเนื่องจนร้อน เมื่อต้องลุยน้ำกะทันหัน กระจกด้านหน้าของสปอตไลท์อาจแตกร้าวได้
การติดตั้งสปอตไลท์เพิ่ม เติมเอง ถ้าไม่ถูกตำแหน่งหรือมีแสงแรงเกินกำหนด ก็ผิดกฎหมาย ทั้งมีการเปิดใช้และไม่เปิด จะไม่ผิดกฎหมายก็ต่อเมื่อติดตั้งถูกตำแหน่งมีฝาครอบปิด และไม่ได้เปิดใช้บนเส้นทางเรียบปกติ
8. ถ้ามีไฟตัดหมอกหลัง ควรเปิดเมื่อหมอกลง หรือฝนตกหนักเท่านั้น
ในรถยนต์บางรุ่นมีสวิตช์ พิเศษ สำหรับไฟตัดหมอกด้านหลัง คือ มีไฟท้ายสีแดงเพิ่มขึ้นอีกข้างละดวง โดยมีความสว่างมากกว่าไฟท้ายปกติมาก เพื่อใช้เตือนผู้ขับรถยนต์คันที่ตามมาเมื่อหิมะตกหนัก ฝนตกหนัก หรือหมอกลง ถ้าเปิดใช้ไฟตัดหมอกหลังสีแดง ซึ่งมีความสว่างมากๆ ในยามทัศนวิสัยปกติแบบไทย แสงสว่างที่เพิ่มขึ้นมาอาจจะแยงสายตาผู้ที่ขับรถยนต์คันที่ตามมา จึงไม่ควรเปิดใช้บนสภาพถนนปกติ ถ้าจะรบกวนผู้อื่น
9. เปลี่ยนเลน-แซง-ขึ้นทางตรงได้แล้ว ควรเร่งความเร็วเพิ่ม
การเลี้ยวขึ้นทางตรงจาก ซอยหรือทางโท รวมถึงการเปลี่ยนเลน ควรกระทำเมื่อเส้นทางว่างพอ เมื่อเปลี่ยนเข้าสู่เลนที่ต้องการได้แล้ว บางคนไม่สนใจมารยาทต่อผู้ขับรถยนต์คันที่ตามมา เพราะคิดแต่เพียงว่า ถ้าถูกชนด้านท้ายแล้วจะไม่ผิด เนื่องจากเข้าสู่เส้นทางได้เต็มคันแล้ว ด้านมารยาท เมื่อเข้าสู่เส้นทางได้เต็มคันแล้ว ควรเร่งความเร็วมากๆ กดคันเร่งหนักๆ เพื่อไล่รถยนต์คันหน้าในระยะที่เหมาะสมให้เร็วที่สุด โดยไม่ต้องสนใจว่า รถยนต์คันหลังห่างแค่ไหน เพื่อมารยาท ผู้ขับรถยนต์คันหลังจะได้ไม่ต้องเบรกจนตัวโก่ง และไม่เสี่ยงต่อการเสียโฉมของบั้นท้ายรถยนต์ของตนเองด้วย
10. ไฟเหลือง ควรเร่งหนีหรือเบรก ?
หลักการที่ถูกต้องและ เป็นสากลแต่ไม่ค่อยมีปฏิบัติกัน คือ ต้องเบรกและจอดเมื่อเห็นไฟเหลืองก่อนไฟแดง ผู้ขับรถยนต์ไทยส่วนใหญ่ เมื่อเห็นไฟเหลือง กลับกลายเป็นไฟเตือนให้เร่งหนีการติดไฟแดง ซึ่งไม่ถูกต้องนักเพราะการที่ไฟเหลืองสว่างขึ้นก่อนจังหวะไฟแดงตามหลักการ จริงเป็นการเตือนเพื่อให้ชะลอความเร็วลงและจอด
ในเมื่อวิถีการขับรถยนต์ ของคนไทย ส่วนใหญ่ ถ้าเห็นไฟเหลือง คือ ไฟเตือนให้เร่งหนีการติดไฟแดง ก็คงหลีกหนีไม่พ้น และรณรงค์ได้ยากที่จะให้เปลี่ยนเป็นการที่เมื่อไฟเหลืองสว่างขึ้นก่อนจังหวะ ไฟแดง เป็นการเตือนเพื่อให้ชะลอความเร็วลงและเบรก หากอยากจอดเมื่อเห็นไฟเหลืองแล้วเบรกเพื่อจอด ก็นับเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องระวังเรื่องความปลอดภัยจากการถูกชนท้าย เพราะคนไทยส่วนใหญ่ เมื่อเห็นไฟเหลืองจะเข้าใจกันว่า เป็นการเตือนให้เร่งหนีการติดไฟแดงบนแยก
ถ้าต้องการฝืนสังคม (ทั้งที่ไม่ผิด) ควรเหลือบมองกระจกหลังไว้หน่อย เพื่อจะได้ตัดสินใจกดแป้นเบรกด้วยนำ้หนักและจังหวะที่เหมาะสม เพื่อมารยาท ผู้ขับรถยนต์คันหลังไม่ต้องเบรกจนตัวโก่งและไม่เสี่ยงต่อการเสียโฉมของ บั้นท้าย รถยนต์ของตน
11. ไฟเลี้ยว ต้องเปิด-ปิดอย่างเหมาะสม
ถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่ ถูกมองข้าม การเปิดไฟเลี้ยวเป็นเรื่องจำเป็น เพราะกฎหมายกำหนดให้มีการเตือนผู้ร่วมทางล่วงหน้าตามระยะที่เหมาะสม จึงควรเปิดไฟเลี้ยวเมื่อเตรียมเปลี่ยนเลนหรือเลี้ยวล่วงหน้าพอสมควร และไม่ควรเปิดค้างจนลืม
12. ชิดซ้ายเสมอ
ขณะที่ฝนตกหรือหลังฝน หยุด บางจุดของผิวถนนมีน้ำท่วมขัง การขับต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้น การขับด้วยความเร็วสูงผ่านจุดที่มีน้ำขังเป็นอันตรายอย่างยิ่ง บนถนนหลายเลนมักมีการเตือนวา “ขับช้า ชิดซ้าย” ซึ่งไม่ค่อยตรงกับหลักการขับปลอดภัยและมารยาทในการใช้ถนน เพราะจะมีรถยนต์แล่นเลนขวาตลอด โดยคิดว่าความเร็วที่ใช้ในขณะนั้นถือว่าเร็วแล้ว ซึ่งอาจเป็นเพราะกฎหมายไทยกำหนดให้ใช้ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อใช้ความเร็วเกินขึ้นไปแล้ว ก็มักจะคิดไปเองว่า เร็วพออยู่แล้ว จึงสามารถแล่นชิดขวาได้ วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง รักษามารยาท และปลอดภัยในการใช้เลนขวา คือ “แซงแล้วชิดซ้าย” ไม่ว่าจะใช้ความเร็วสูงเท่าไรก็ตาม เมื่อเร็วแล้วแต่ยังมีเร็วกว่าได้ การขับรถยนต์ด้วยมารยาทที่ดีเป็นเรื่องที่ควรปฏิบัติ